ครูดีมีคุณธรรม

ครูดีมีคุณธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

สามเณร วัชระ สุภาพ

จงอธิบายความสัมพันธ์ของพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อคนไทยวิถีพุทธ
            สภาพสังคมไทยในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยมากขึ้นทุกวัน  ทั้งทางด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  การปรับตัว  ทำให้ประชาชนหันไปพึ่งวัตถุนิยมจนเกิดเป็นความเคยชิน  คิดว่าวัตถุต่างๆเหล่านี้คือสิ่งจำเป็นของการดำรงชีวิต  ในความทันสมัยของโลกปัจจุบันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พระสงฆ์จะต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีงามให้เกิดแก่ประชาชน  โดยเฉพาะการเข้าใจวิถีแห่งชุมชนอย่างแท้จริง  ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมประเพณี  ความเป็นอยู่ของประชาชน  จนประชาชนมีความรู้และเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง  ซึ่งในอดีตได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพุทธศาสนาซึ่งเป็นคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประชาชนได้นับถือและปฏิบัติตามนำมาซึ่งความสุขแก่ตนเองและคนรอบข้างได้อย่างแท้จริง
ศาสนาพุทธเป็นสถาบันสำคัญที่ช่วยรวมจิตใจของคนไทย  เป็นศาสนาที่คนไทยนับถือมากที่สุด  เป็นบ่อเกิดที่สำคัญประการหนึ่งของขนบธรรมเนียมประเพณี กฎเกณฑ์  กฎหมาย  ค่านิยม  และวิถีชีวิตของชาวไทย  โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมหรือเป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนพิธีต่างๆ  เช่น  พิธีโกนผมไฟ  ตัดจุก  พิธีบวชนาค  พิธีศพ  วัดเป็นสถานสงเคราะห์เด็ก  เช่น  วัดสระแก้ว  วัดเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยในระยะสุดท้าย  เช่น  วัดพระบาทน้ำพุ  ในอดีตวัดเป็นที่ให้ความรู้ซึ่งเด็กผู้ชายจะมีการบวชเรียน  ความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนานำมาซึ่งสถาปัตยกรรม  ประติมากรรมที่สวยงาม  เช่น  โบสถ์  วิหาร  การสร้างเจดีย์เก็บอัฐิ  การปั้นหล่อพระพุทธรูป  การสร้างพระบูชา  ภาพวาดเกี่ยวกับความเชื่อและชาดกต่างๆบนฝาผนัง  อีกทั้งเป็นแหล่งวรรณกรรม  เช่น  มหาชาติคำหลวง  ไตรภูมิพระร่วง  นอกเหนือจากนี้แล้วอิทธิพลของพุทธศาสนายังส่งผลต่อจิตใจของผู้ที่นับถือ  มีการประกอบพิธีกรรมต่างๆ  เช่น  การทำบุญตักบาตร  การเวียนเทียน  การทำสังฆทานกรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร  ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อว่าการทำดีย่อมได้ดีการทำชั่วย่อมได้ชั่ว  เชื่อในเรื่องของบาป  บุญ  คุณ  โทษ  กฎแห่งกรรม  และเชื่อในเรื่องกรรมว่ากรรมที่ทำในชาตินี้จะมีผลไปถึงชาติหน้า  เพราะความเชื่อต่างๆเหล่านี้จึงทำให้คนไม่กล้าทำบาป  เพราะเกรงกลัวว่าถ้าเกิดในชาติภพต่อไปจะประสบแต่ความยุ่งยากและปัญหาต่างๆ  เมื่อประชาชนเชื่อและปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนแล้วย่อมนำมาซึ่งความสุขทั้งความสุขทางกายและความสุขทางจิตใจ

สามเณร  วัชระ  สุภาพ  เลขที่ 9    รัฐศาสตร์การปกครองชั้นปีที่ 1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น