ครูดีมีคุณธรรม

ครูดีมีคุณธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

นาย วนาสิน วงศ์อุทัย

ความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย
พระพุทธศาสนาเข้าสู่สังคมไทยตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณะทูตเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ จนมาถึงปัจจุบันนี้ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานทางความเชื่อ ความคิด วิถีชีวิตมีผลต่อวัฒนธรรมของคนไทย มีวัดเป็นศูนย์กลางในการอบรมสั่งสอนฝึกฝนอบรมเยาวชนให้เป็นคนดีโดยใช้พุทธศาสนาช่วยพัฒนาจิตใจดังนั้นพระพุทธศาสนามีความสำคัญ ดังนี้
๑.พระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติประวัติศาสตร์ของชาติไทยมีความเกี่ยวเนื่องผูกพันกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด  พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาประจำชาติไทย
๑.๑. นับตั้งแต่สมัยที่ชนชาติไทยมีประวัติศาสตร์อันชัดเจน  ชาวไทยก็นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว
๑.๒. พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์นับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา  จนถึงปัจจุบัน  ทรงนับถือพระพุทธศาสนา  รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับที่เป็นกฏหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้มีบทบัญญัติว่า  พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ  หมายถึง  ทรงนับถือพระพุทธศาสนา และ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก หมายถึง ทรงสนับสนุนศาสนาอื่นๆ
๑.๓. เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเปลี่ยนธงชาติมาใช้ธงไตรรงค์แทนธงช้างซึ้งใช้มาแต่ก่อน  ก็ได้ทรงตราความหมายสีธงแต่ละสีไว้เป็นสัญลักษณ์ดังพระราชนิพนธ์ในหนังสือดุสิตสมิต  ฉบับพิเศษ พ.ศ. ๒๔๖๑ ว่า
ขาว           คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์    หมายพระไตรรัตน์และธรรมะคุ้มจิตใจ
แดง          คือโลหิตเราไซร้         ซึ่งยอมสละได้เพื่อรักษาชาติศาสนา
น้ำเงิน        คือสีโสภา                 อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
นั่นคือ สีแดง หมายถึงชาติ สีขาว หมายถึงศาสนา และ น้ำเงิน หมายถึงพระมหากษัตริย์
ซึ่งศาสนาในที่นี้ทรง  หมายถึง  พระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ
๑.๔. เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงต้อนรับพระสันตปาปา  จอห์นปอล ที่ ๒ ประมุขแห่งศาสนจักรคาทอลิก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๗  พระองค์มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า  "คนไทยเป็นศาสนิกที่ดีทั่วกันส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  อันเป็นศาสนาประจำชาติ  "
๑.๕. ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่นับศักราช  โดยใช้พุทธศักราช ( พ.ศ.) อย่างเป็นทางการ  ส่วนประเทศอื่นๆแม้จะนับถือพระพุทธศาสนาก็ไม่ได้ใช้พุทธศักราชเป็นหลักในการบอกเวลาอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้การที่คนไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๙๕ของประชากรทั้งประเทศนับถือพระพุทธศาสนา  วิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่จึงผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างมาก  หลักธรรมและพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาได้รับการซึมซับหล่อหลอมวิถีชีวิตของคนไทย  จนทำให้มีลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย  เช่น  มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ยิ้มแย้มแจ่มใสแสดงความเป็นมิตร เป็นต้น เหล่านี้จึงเรียกได้ว่า  "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย"
๒.  สำคัญในฐานะเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย
๒.๑  ประชาชนยึดถือวัดและพระสงฆ์เป็นศูนย์กลางหลักของสังคมไทยมาช้านานด้านสังคม การศึกษา
๒.๒  พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวพุทธ
๒.๓  เป็นบ่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมสาขาต่างๆ
๒.๔  เป็นสิ่งที่หลอมรวมศิลปวัฒนธรรมของไทย
๓.  สำคัญในฐานะสภาพแวดล้อมและครอบคลุมสังคมไทย 
๓.๑  จำนวนวัดมีมากมายกระจายไปทั่วประเทศ รวมทั้งสำนักสงฆ์ด้วย 
๓.๒  วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน และมีการให้บุตรหลานเข้าบวชเรียนทางธรรมเป็นสามเณร และเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี 
๓.๓  คนไทยนิยมทำบุญและอนุรักษ์ประเพณีทางพุทธศาสนา ถือเป็นวัฒนธรรมของคนไทยที่สามารถนำไปส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว นำรายได้เข้าประเทศ

                                                                                                   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น