ครูดีมีคุณธรรม

ครูดีมีคุณธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

พระมหาเอกกวิน ปิยวณฺโณ

จงอธิบายความสัมพันธ์ของพระพุทธศาสนาว่ามีอิทธิพลต่อวิถีไทยอย่างไร ?
          เมื่อกล่าวถึงวิถีของชาวไทยก็ต้องมีความเข้าใจก่อนว่า คำว่า คำว่าวิถีไทยหมายถึง ครรลองหรือรูปแบบวิธีการในการดำรงชีวิตของชาวไทย ซึ่งผู้ที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับชาวไทย ก็จะทราบได้โดยระเบียบปฏิบัติหรือครรลองแห่งความประพฤติว่าการแสดงออกทางกายวาจาใจอย่างนี้ๆ เป็นลักษณะเป็นอัตตลักษณ์ของชาวไทย โดยที่ครรลองหรือรูปแบบในการดำรงชีวิตของชาวไทยที่แสดงออกมาทางกายวาจาใจนั้นแสดงออกมาโดยการกลั่นกลองกล่อมเกลาอบรมด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เนื่องจากชาวไทยมีความศรัทธายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาประจำใจเป็นศาสนาประจำครอบครัว ตลอดถึงประจำสังคมมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี นี้เองที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวไทยมีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาอย่างแนบชิด กล่าวได้ว่าชีวิตทั้งชีวิตของชาวไทยนั้นผูกพันธ์กับพระพุทธศาสนาตลอดทุกช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงสิ้นชีวิต ซึ่งจะได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับวิถีชีวิตของชาวไทยในด้านต่างดังนี้
          ๑. ด้านทัศนคติและความเชื่อ เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุและผลดังที่ทรงตรัสสอนเอาไว้ในหลัก อิทัปปัจจยตา (สิ่งนี้เป็นเหตุจึงเกิดผลอย่างนี้) และหลักปฏิจจสมุปปบาท (สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนี้) เป็นต้น จึงทำให้คนไทยมทัศนคติความเชื่อในฝ่ายที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ดังจะได้นำมาสาธกเป็นตัวอย่างดังนี้
          ( ๑ ) คนไทยเชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม ภาษาบาลีว่า กมฺมสทฺธา  โดยมีความเชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง ทุกการกระทำของสัตว์เมื่อกระทำลงไปโดยเจตนาหรือความจงใจ การกระทำนั้นเรียกว่าเป็นกรรม ถ้ากรรมนั้นประกอบด้วยกุศลเจตนาก็เป็นกรรมฝ่ายดีหรือกรรมที่เป็นบุญทำแล้วยังความสุขกายสบายใจและความเจริญให้เกิดแก่ตนและผู้อื่นจัดเป็นปุญญาภิสังขาร คือการปรุงแต่งการกระทำด้วยความดี ถ้ากรรมนั้นประกอบด้วยอกุศลเจตนาก็เป็นกรรมฝ่ายชั่วทำแล้วมีความวิปฏิสารเดือดร้อนทั้งตนและผู้อื่นจัดเป็นอปุญญาภิสังขาร  คือการปรุงแต่งการกระทำด้วยบาปอกุศล แต่หากเป็นการกระทำที่ปราศจากเจตนาการกระทำนั้นก็ไม่เป็นกรรมเป็นแต่สักว่ากิริยาเท่านั้นเช่นการกระพริบตา หรือการกระทำอื่นๆที่ขาดเจตนาก็ไม่เป็นกรรมเช่นเดินเหยีบสัตว์ตัวเล็กตายเพราะมองไม่เห็นเป็นต้น
          ด้วยความเชื่อเรื่องกรรมคือการของตนเป็นใหญ่จึงทำให้คนไทยไม่เชื่อเรื่องของเทพเจ้าผู้บันดาลให้โชคลาภหรือบันดาลให้มีสุขมีทุกข์จึงเป็นเหตุให้คนไทยรู้จักพึ่งพาตนเองอาศัยการกระทำของตนเองในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆและความเจริญรุ่งเรืองให้กับตนเองตามหลักธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า อตฺตา หิอตฺตโน นาโถ ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน
          ( ๒ ) คนไทยเชื่อเรื่องวิบาก คือผลแห่งกรรม พระพุทธศาสนานั้นสอนให้เชื่อว่าเมื่อเราทำกรรมไว้อย่างไร ก็จะได้รับผลของการกระทำเช่นนั้นดังที่กล่าวกันเสมอๆว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วซึ่งมีที่มาจากพุทธภาษิตที่ว่า กลฺยาณการี กลฺยาณํปาปการี จ ปาปกํ บุคคลทำกรรรมดีย่อมได้รับกรรมดี ทำกรรมชั่วก็จะได้รับกรรมชั่วนั่นเอง อุปมาเหมือนการปลูกพืชเช่นถ้าเราปลูกมะม่วงแน่นอนว่าผลที่ได้จากต้นมะม่วงก็จะต้องเป็นผลมะม่วงแน่นอน
          ความเชื่อเรื่องผลแห่งกรรมนี้เป็นเหตุให้คนไทยมีใจใฝ่กุศลธรรมด้วยการหมั่นสร้างบุญกุศลโดยประการต่างๆ เช่นการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
          ( ๓ ) คนไทยเชื่อว่า สัตว์มีกรรมเป็นของตนโดยเฉพาะ ภาษาบาลีว่า กมฺมสฺสกตาสทฺธา คือมีความเชื่อว่าแต่ละบุคคลย่อมมีกรรมเป็นของตนเอง สัตว์โลกจะมีวิถีชีวิตเป็นอย่างไรเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เจริญรุ่งเรื่องหรือเดือดร้อนตกต่ำก็เป็นเพราะเหตุคือกรรมที่ตนกระทำเอาไว้เองมีพุทธภาษิตรับรองไว้ว่า กมฺมุนา วตฺตติโลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมและว่า กมฺมํสตฺเต วิภชติยทิทํหีนปฺปตตาย กรรมย่อมจำแนกสัตว์โลกให้แตกต่างกัน คือ ดี เลว ประณีต และต่ำทราม
          จากหลักความเชื่อดังกล่าวทำให้คนไทยมุ่งใส่ใจมิให้บาปอกุศลเกิดมีในขันธสันดานของตนเพราะเกรงว่าตนเองจะต้องเป็นผู้รับผลจากกรรมอันเป็นของเฉพาะตนนั่นเอง
          (๔ ) คนไทยเชื่อเรื่องพระรัตนตรัย ตถาคตโพธิสทฺธา โดยเริ่มจากมีความเชื่อในพระปัญญาอันบริสุทธิ์ของพระพุทะองค์ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมโดยพระองค์เอง และพระธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้นั้นก็เป็นธรรมยังประโยชน์เกื้อกูลให้สัมฤทธิ์ผลแก่ผู้เชื่อฟังและประพฤติปฏิบัติได้โดยสมควรแก่ความประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคลซึ่งมีพระสงฆ์เป็นผู้ศึกษาสืบทอดประพฤติปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยนั้นแล้วได้เผยแผ่แก่พุทธศาสนิกชนเพื่อให้สามารถมีชีวิตที่เข้าถึงความสงบสุขได้โดยปกติ
          ดังนั้นคนไทยจึงมีความเคารพต่อพระรัตนตรัยอย่างสูงสุดโดยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะเป็นที่พึ่งและนิยมกรายไว้บูชาพระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณกันโดยทั่วไป
          นอกจากหลักความเชื่อทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คนไทยก็ยังมีความเชื่อที่แฝงด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอีกหลายประการเช่น คนไทยมีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษบุพพการีตลอดถึงครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณทั้งหมด คนไทยรักความสงบสุข ฯลฯ
          ๒. ด้านการพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยอมรับศักยภาพของมนุษย์ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐที่สามารถฝึกฝนพัฒนาได้ ( ปริสทมฺม ) ดังนั้นการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์โดยแท้จริงก็จะต้องมีการเรียนรู้ฝึกฝนอบรมให้มีความประเสริฐคือมีความดีให้ได้ เพราะหากเกิดเป็นมนุษย์แล้วไม่เรียนรู้ไม่อบรมฝึกฝนให้มีสติปัญญามนุษย์ก็จะไม่มีความแตกต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆที่คงสัญชาตญาณดิบเอาไว้ มีการฆ่ากันเบียนเบียนกัน สมสู่กันโดยไม่เลือกไม่เว้นซึ่งอาจกล่าวได้ว่าถ้ามนุษย์ไม่ฝึกฝนพัฒนาก็จะเป็นยิ่งกว่าสัตว์อีกหลายๆประเภทก็เป็นได้ พระพุทธองค์ได้จำแนกระดับความสามารถในการฝึกฝนของมนุษย์เอาไว้โดยทรงอุปมาเปรียบเทียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า และทรงตรัสรับรับความประเสริฐของมนุษย์ไว้ว่า ทนนฺโต เสฏฺโฐมนสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย มนุษย์ที่ฝึกแล้วเท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐ โดยพระองค์ทรงวางหลักธรรมสำหรับการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ไว้ ๓ ประการ เรียกว่าไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
          ศีลเป็นการฝึกที่มุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลทางสังคมโดยการอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขดังนั้นในระดับศีลจึงเป็นการควบคุมพฤติกรรมเฉพาะกายและวาจาเท่านั้น เมื่อกายวาจาสงบระงับลงไปด้วยอำนาจของศีลก็จะเป็นปทัฏฐานให้สามารถฝึกพัฒนาในระดับที่ ๒ ได้คือเรื่องสมาธิ เพราะศีลเป็นปทัฏฐานของสมาธิ ลำพังเพียงศีลอย่างเดียวมิอาจช่วยให้คนชำระกิเลสมลทินภายในจิตใจให้หมดไปได้ จำเป็นต้องอาศัยสมาธิ คือภาวะที่ใจอ่อนน้อมพร้อมจะฝึกให้ยิ่งขึ้นไป ภาวะที่ใจมีความมั่นคง ภาวะที่ใจเหมาะแก่การงาน และภาวะที่จิตบริสุทธิ์ เป็นผลมาจากสมาธิที่ตั้งมั่นดีแล้วทั้งสิ้น  และเมื่อใจพร้อมด้วยคุณสมบัติดังที่กล่าวแล้วก็จะเป็นปทัฏฐานในการฝึกขั้นสูงสุดคือฝึกระดับสติปัญญา ทั้งนี้เพราะสมาธิเป็นบ่อเกิดของปัญญานั่นเอง
          จากความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ทำให้คนไทยมีวิถีชีวิตที่ไม่ห่างจากการฝึกฝนพัฒนาตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเห็นได้จากการเข้าวัดปฏิบัติธรรมในธัมมัสสวนะหรือวันสำคัญต่างๆ
          ๓. ด้านวัฒนธรรมประเพณีและพิธีกรรม ในบรรดาการเกิดวัฒนธรรมประเพณีต่างนอกจาจะมีสาเหตุทางสภาพภูมิประเทศภูมิอากาศความเชื่อต่างๆแล้ว ส่วนสำคัญที่สุดของการเกิดวัฒนธรรมประเพณีก็คือศาสนาและเนื่องจากประเทศไทยได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งโบราณกาล ดังนั้นวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยโดยมากก็เกิดขึ้นจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มตั้งแรกเริ่มตั้งแต่เกิดจนถึงสิ้นอายุขัย เช่นประเพณีการเกิดก็นิยมทำบุญ ตั้งชื่อบุตรหลานในอดีตก็นิยมให้พระตั้งเพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคล การบวช การแต่งงานการขึ้นบ้านใหม่ จนถึงการบำเพ็ญกุศลศพเรียกได้ว่ามีวิถีชีวิตที่ไม่ห่างจากพระพุทธศาสนาเลย
          อย่างไรก็ตามในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ยุคที่ผู้คนกำลังหลังอยู่กับกระแสโลกาภิวัฒน์ ระบบทุนนิยมเงินตรา ทำให้ในปัจจุบันพระพุทธศาสนาได้ถูกละเลยไปพอสมควรจึงเกิดมีปัญหาขึ้นในสังคมจนบางครั้งกลายเป็นความขัดแย้งกันจนยากจะแก้ไข เพราะฉะนั้นในทัศนคติของนักศึกษามีความเห็นว่าเมื่อไรก็ตามที่วิถีของชีวิตชาวไทยมีระยะห่างระหว่างสัมพันธภาพทางพระพุทธศาสนา นั่นเป็นนิมิตบอกเหตุว่าวิถีของชาวไทย สังคมของชาวไทยกำลังเสื่อม กำลังถูกภัยที่เราช่วยกันก่อขึ้นมาคุกคามและหากเราเพิกเฉยไม่ช่วยกันทำสังคมให้น่าอยู่โดยการนำหลักศีลธรรมมาเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต ในอนาคตอันใกล้ชีวิตที่เคยอุดมด้วยความสุขของสังคมไทยก็จะอันตรธานหายไป
          สรุปว่าพระพุทธศาสนานั้นมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวไทยแบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่นำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนามากล่อมเกลาประพฤติปฏิบัติ ช่วยให้วิถีไทยและสังคมไทยมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ แม้ในปัจจุบันอาจมีห่างเหินจากหลักธรรมไปบ้างแต่โดยภาพรวมแล้วพระพุทธศาสนาก็ยังคงมีความสำคัญและยังคงเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้แก่ชาวไทยได้เป็นอย่างดี
พระมหาเอกกวิน  ปิยวณฺโณ เลขที่ ๒ ชั้นปีที่ ๑
                                                          คณะ ศาสนาและปรัชญญา สาขาพุทธศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น