ครูดีมีคุณธรรม

ครูดีมีคุณธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

พระบุญฤทธิ์ ชูเลื่อน (วิชฺชาธโร)

จงอธิบายความสัมพันธ์พระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อวิถีไทยอย่างไร
          ความสัมพันธ์พระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อวิถีไทย คือ
                 ๑. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ชาวไทยส่วนใหญ่นับถือ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศร้อยละ ๙๕ นับถือพระพุทธศาสนาสืบต่อมาจากบรรพบุรุษไทย นับตั้งแต่ไทยมีประวัติศาสตร์ชัดเจนชาวไทยก็นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว หลักฐานโบราณ ได้แก่ โบราณสถานที่เป็นศาสนสถาน โบราณวัตถุ เช่น พระธรรมจักร  ใบเสมา พระพุทธรูป ศิลาจารึก เป็นต้น แสดงว่าผู้คนในดินแดนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนา (ทั้งนิกายเถรวาทและมหายาน) มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาช้านานแล้ว
                 ๒. พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญต่อวิถีไทย เนื่องจากชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนามาช้านาน จนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาได้หล่อหลอมซึมซับลงในวิถีไทย กลายเป็นรากฐานวิถีชีวิตของคนไทยในทุกด้าน ทั้งด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรม ดังนี้
                       ๑) วิถีชีวิตของคนไทย คนไทยมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ การแสดงความเคารพ การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความกตัญญูกตเวที การไม่อาฆาตหรือมุ่งร้ายต่อผู้อื่น ความอดทนและการเป็นผู้มีอารมณ์แจ่มใส รื่นเริง เป็นต้น ล้วนเป็นอิทธิพลจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ซึ่งได้หล่อหลอมให้คนไทยมีลักษณะเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่นานาชาติยกย่องชื่นชม
                       ๒) ภาษาและวรรณกรรมไทย ภาษาทางพระพุทธศาสนา เช่น ภาษาบาลีมีอยู่ในภาษาไทยจำนวนมาก วรรณกรรมไทยหลายเรื่องมีที่มาจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิกถา ในสมัยสุโขทัย กาพย์มหาชาตินันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง ปุณโณวาทคำฉันท์ ในสมัยอยุธยา เป็นต้น
                       ๓) ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ประเพณีไทยที่มาจากความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามีอยู่มากมาย เช่น การอุปสมบท ประเพณีทอดกฐิน ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีชักพระ เป็นต้น กล่าวได้ว่าขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามีความผูกพันกับคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย
                       ๔) ศิลปกรรมไทย พระพุทธศาสนาเป็นบ่อเกิดของศิลปะแขนงต่างๆ วัดเป็นแหล่งรวมศิลปกรรมไทย ทางด้านสถาปัตยกรรม เช่น รูปแบบการเสร้างเจดีย์ พระปรางค์ วิหาร ที่งดงามมาก เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพมหานคร ประติมากรรม ได้แก่ งานปั้นและหล่อพระพุทธรูป เช่น พระพุทธลีลาในสมัยสุโขทัย พระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก จิตรกรรม ได้แก่ ภาพวาดฝาผนังและเพดานวัดต่างๆ เช่น จิตรกรรมฝาผนัง วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร
                 ๓. พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจของสังคมไทย พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน เป็นศูนย์กลางของความเคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ให้คนไทยประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงามนอกจากนี้วัดยังเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมของชุมชน สร้างความสามัคคีในชุมชน
                 ๔. พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการพัฒนาในการพัฒนาชาติไทย หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามุ่งเน้นการพัฒนาคนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งด้านสุขภาพกาย  สุขภาพจิต ใช้คุณธรรมและสติปัญญาในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตนเองและร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชน  พัฒนาสังคม  และพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญ
รุ่งเรือง นอกจากนี้พระสงฆ์หลายท่านยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำชุมชนพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น วัดเป็นแหล่งการเรียนรู้ของสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวไทยได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ได้ฝึกฝนอบรมตนให้เป็นคนดี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติไทย
                 ๕. พระพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของชาติไทย สถาบันหลักของชาติไทยที่คนไทยทุกคนให้ความเคารพนับถือ ประกอบด้วยชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ หมายถึง พระประมุขของชาติไทยที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและยังเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงให้ความอุปถัมภ์ศาสนาทุกศาสนาในประเทศไทย
          สรุป พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่งของสังคมไทย คนไทยต่างให้การยอมรับนับถือมาตั้งแต่โบราณกาล และมีการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก
          เมื่อ พระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานมั่นคงในสังคมไทย วัดและพระสงฆ์มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนไทย วัดจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม วัดเป็นศูนย์กลางของการอบรมสั่งสอนจริยธรรม เป็นสถาบันสำคัญทั้งในด้านการศึกษา สังคม และเป็นบ่อเกิดของศิลปะสาขาต่าง ๆ ส่วนพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาก็ได้รับการยกย่องในสังคม ในฐานะเป็นผู้ทรงคุณธรรมควรแก่การเคารพและเชื่อฟังซึ่งสรุปได้ ดังนี้
          ด้าน การศึกษา วัดเป็นสถานศึกษาเล่าเรียน โดยพระภิกษุสงฆ์ทำหน้าที่เป็นผู้อบรมสั่งสอนให้ความรู้ แม้ในปัจจุบัน พระสงฆ์ก็ยังคงทำหน้าที่สอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน
          ด้าน สังคม วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่ชุมนุม เพื่อทำบุญฟังพระธรรมเทศนา ตลอดจนการพบปะสังสรรค์ พระสงฆ์เป็นตัวแทนของสถาบันพระพุทธศาสนาที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน
          ด้าน ศิลปกรรม วัดเป็นที่รวมแห่งศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น ประติมากรรมปูนปั้น ศิลปกรรมแกะสลักไม้ จิตรกรรมฝาผนัง ตลอดถึงถาวรวัตถุต่าง ๆ ที่ศิลปินไทยได้ถ่ายทอดไว้ที่โบสถ์ วิหาร เจดีย์ องค์พระพุทธรูป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา.
                                                                             พระบุญฤทธิ์  ชูเลื่อน  (วิชฺชาธโร)
                                                                             เลขที่ ๒  สาขารัฐศาสตร์การปกครอง


1 ความคิดเห็น:

  1. นิสิตมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช

    ตอบลบ