ครูดีมีคุณธรรม

ครูดีมีคุณธรรม

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554

นักศึกษาคิดอย่างไรกรณีศาสนาพุทธไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาติไทย?

           ถ้าพิจารณาทัศนคติด้านวิถีความเป็นชาติไทยซึ่งมีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งมีจำนวนร้อยละ ๙๕ % ของประชากรทั้งหมดของประเทศนั้นเป็นพุทธศาสนิกชน วิถีชีวิตสิ่งที่แสดงออกในชีวิตประจำวันย่อมจะสะท้อนความเป็นพุทธศาสนาผ่านทางวิถีชีวิตตลอดถึงวัฒนธรรมประเพณีออกมาด้วย การที่ไม่มีกฎหมายรองรับศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือย่อมไม่สอดคล้องต่อต่อวิถีชีวิตและหลักปฏิบัติ
            ดังนั้นเมื่อพิจารณาด้านวิถีความเป็นไทยซึ่งส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาดังที่กล่าวแล้วนั้น การที่ศาสนาพุทธไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาติ อาจถูกมองได้ว่า ผู้นำหรือผู้มีอำนาจไม่ได้พิจารณาเห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา เพราะการที่ศาสนาพุทะไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาตินั้นย่อมตีความหมายได้ว่ารัฐไม่ได้สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงออกถึงวิถีความเป็นไทยพุทธผ่านวัฒนธรรมประเพณีได้อย่างเต็มที่
            ถ้าพิจารณาด้านประวัติศาสตร์ ในสมัยอดีตผู้นำ หมายถึงพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์นั้นมีกฎมณเฑียรบาลกำหนดไว้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ต้องเป็นพุทธมามกะ ( ต้องนับถือพระพุทธศาสนา ) ย่อมแสดงนัยให้เห็นโดยนิตินัยและพฤตินัยว่าเป็นเสมือนการยอมรับให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยแม้จะไม่มีบทบัญญัติเขียนไว้โดยชัดเจนก็ตาม ซึ่งแตกต่างกับสมัยปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนระบบการปกครอง
            อำนาจการบริหารเป็นการกระทำของประชาชนปกครองกันเอง ซึ่งไม่เคยมีกฎหมายฉบับได้เขียนไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นพุทธมามกะ ทำให้ดูประหนึ่งว่าผู้นำก็ไม่ได้เคร่งครัดเอาจริงเอาจังกับหลักพระพุทธศาสนา และทำให้สามารถคิดได้ว่าถ้าวันหนึ่งผู้นำหรือนายกรัฐมนตรีเป็นคนศาสนาอื่นอะไรจะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา
            ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงดำเนินนโยบายรับเอาพระพุทธศาสนามาเป็นสรณะที่พึ่งทุกพระองค์ ก็พิจารณาได้ว่าในปัจจุบันการที่ศาสนาพุทะไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาตินั้นขัดกับหลักปฏิบัติหรือนโยบายที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงบำเพ็ญมา
             หากพิจารณาด้านความหลากหลายทางด้านลัทธิความเชื่อทางศาสนาและสิทธิความเสมอภาคของประชาชนทุกหมูเหล่าแล้วกาที่ไม่ได้บัญญัติให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติก็อาจเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะเป็นการให้ความเสมอภาคในการแสดงออกทางความคิดและความเชื่อโดยเท่าเทียมกัน แต่ทั้งนี้ การพิจารณาถึงจำนวนประชากรที่นับถือศาสนานั้นๆเป็นองค์ประกอบก็เป็นปัจจัยสำคัญเพราะเราอยู่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันว่าด้วยประชาชนส่วนใหญ่หรือว่าด้วยประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
           สรุปได้ว่าการที่พระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาติไทยนั้นอาจเป็นได้ทั้งความเหมาะสมและความไม่เหมาะสมขึ้นอยู่กับมุมมองที่เรายกขึ้นมาพิจารณา แต่ถ้าเราใช้สติปัญญาพิจารณาให้ละเอียดรอบด้านแล้วเราจะพบว่าการที่พระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาตินั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทยที่คนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาและได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธะทั่วโลก
        พระมหาเอกกวิน   ปิยวณฺโณ นธ.เอก ปธ.๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น